
ในฐานะผู้ครอบครองแคว้น สุโขทัย พระมหาธรรมราชาลิไท ทรงพยายามดำเนินรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พ่อขุนรามคำแหงมหาราช คือ เป็นทั้งนักปราชญ์ผู้สนพระทัยในทางศาสนาโดยให้ความอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ส่งสมณทูตไปเผยแพร่พระพุทธศาสนายังที่ต่างๆ ที่พระองค์ต้องการเป็นพันธมิตรด้วย เช่น เมืองน่าน หลวงพระบาง และกรุงศรีอยุธยา แต่ขณะเดียวกันก็ได้แสดงบทบาทของการเป็นนักรบที่พยายามขยายอำนาจของแคว้นสุโขทัยให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ในสมัยของพระองค์ นอกจากจะได้ยกทัพไปตีเมืองแพร่ทางทิศเหนือแล้ว ทางทิศตะวันออก ได้พยายามขยายขอบเขตออกไปถึงเมืองลุ่มแม่น้ำป่าสัก จากบทบาทการเป็นนักรบของพระองค์ที่ขยายพระราชอำนาจไปยังเมือง ลุ่มน้ำป่าสักนี้เอง ทำให้กระทบกระทั่งกับ กรุงศรีอยุธยา ที่มีความเกี่ยวข้องกับบ้านเมืองแถบนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) จึงเสด็จลอบยกทัพมายึดเมืองสองแควไว้ได้ และได้โปรดให้ขุนหลวงพ่องั่ว พระเชษฐาของพระมเหสี ซึ่งขณะนั้นครองเมืองสุพรรณบุรี มาปกครองเมืองสองแคว ทำให้พระมหาธรรมราชาลิไท ต้องถวายบรรณาการเป็นอันมาก ในที่สุดสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ จึงทรงมอบเมืองสองแควคืน และโปรดให้ขุนหลวงพ่องั่วไปครองเมืองสุพรรณบุรีดังเดิม
ในการคืนเมืองสองแควนั้น สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงตั้งเงื่อนไขว่าพระมหาธรรมราชา ลิไท ต้องเสด็จไปประทับที่เมืองสองแคว จึงเป็นเหตุให้แคว้นสุโขทัยที่เริ่มจะรวมตัวกันได้ต้องสั่นคลอน เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไทเสด็จไปประทับอยู่เมืองสองแควได้โปรดให้พระอนุชาปกครองเมืองสุโขทัยแทน
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๒ สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรตค สมเด็จพระราเมศวรขึ้นครองราชสมบัติ เมื่อพระมหาธรรมราชาลิไททรงทราบ จึงคาดสถานการณ์ว่า ทางกรุงศรีอยุธยาคงต้องมีเหตุไม่เรียบร้อยขึ้นแน่ พระองค์จึงรวบรวมพลจากเมืองต่างๆ ในแคว้นสุโขทัยที่เจ้าเมืองยังคงจงรักภักดีต่อพระองค์ เสด็จยกพลมายังกรุงสุโขทัย การเสด็จกลับคืนสุโขทัยในครั้งนี้ หลังจากที่ต้องทรงประทับอยู่ที่สองแควถึง ๗ ปี จึงเป็นการเตรียมการที่จะใช้ตำแหน่งของเจ้าเมืองสุโขทัยอันเป็นบัลลังก์ที่บรรพบุรุษของพระองค์ได้สั่งสมอำนาจไว้นั้น เพื่อเป็นศูนย์กลางในการระดมกำลังก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยให้มีฐานะมั่นคงสืบไป พระองค์ทรงเริ่มบทบาทโดยการเป็นพันธมิตรกับแคว้นล้านนาซึ่งขณะนั้นมีเจ้ากือนา เป็นกษัตริย์ปกครอง โดยพระองค์ได้ส่งตระสุมนะเถระเป็นสมณะทูตขึ้นไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่
ในปี พ.ศ. ๑๙๑๓ ขุนหลวงพ่องั่วซึ่งขึ้นครองเมืองสุพรรณบุรี ได้เห็นความเคลื่อนไหวของพระมหาธรรมราชาลิไทที่กรุงสุโขทัย พระองค์จึงเข้ายึดอำนาจกรุงศรีอยุธยาด้วยความยินยอมของสมเด็จพระราเมศวร ซึ่งได้ทรงกลับไปครองเมืองลพบุรีตามเดิม ขุนหลวงพ่องั่วเสด็จขึ้นครองราชย์ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑”
พระมหาธรรมราชาลิไท เสด็จสวรรคตเมื่อปีใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าอยู่ในระหว่าง พ.ศ. ๑๙๑๓-๑๙๑๖ หลังจากนั้นอาณาจักรสุโขทัยเกิดความแตกแยก เนื่องจากขาดผู้นำอาณาจักรที่เป็นที่ยอมรับของญาติพี่น้องครองเมืองต่างๆ สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ จึงเสด็จขึ้นมายึดอาณาจักรสุโขทัยได้ทั้งหมด หากแต่ยังโปรดให้เชื้อพระวงศ์ทางสุโขทัยปกครองตนเอง โดยขึ้นตรงกับอาณาจักรอยุธยา คือ พระมหาธรรมราชาที่ ๒ ซึ่งในสมัยของพระองค์ อาณาจักรสุโขทัยอยู่ในฐานะเป็นรัฐกันชนระหว่างอาณาจักรเชียงใหม่กับอาณาจักรอยุธยา ซึ่งต่างก็แสดงความเคลื่อนไหวในการที่จะผนวกเอาดินแดนของอาณาจักร สุโขทัย ตลอดเวลา ฝ่ายกรุงศรีอยุธยาพระบรมราชาธิราชที่ ๑ (ขุนหลวงพ่องั่ว) พระองค์ทรงเกรงว่าอาณาจักรสุโขทัยจะมีไมตรีกับอาณาจักรเชียงใหม่ เพราะหากทั้งสองอาณาจักรร่วมมือกันแล้วจะทำให้อาณาจักรอยุธยาอยู่ในฐานะลำบาก จึงทรงยกทัพมาปราบปรามหัวเมืองชายแดนที่ติดต่อกับอาณาเขตของสุโขทัย และหาเหตุเข้าโจมตีเมือง ในอาณาจักรสุโขทัยด้วย ตามพงศาวดารอยุธยากล่าวว่า
- พ.ศ. ๑๙๑๔ สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ขุนหลวงพ่องั่ว) มีชัยชนะต่อหัวเมืองเหนือทั้งปวง
- พ.ศ. ๑๙๑๕ อยุธยายกทัพไปตีเมืองนครพังคา และเมืองแสงเชรา
- พ.ศ. ๑๙๑๖ อยุธยายกทัพไปตีเมืองชากังราว พญาไสแก้ว กับ พญาคำแหง สู้รบป้องกันเมืองจนพญาไสแก้วเสียชีวิตในที่รบ พญาคำแหงถอยทัพกลับเข้าเมืองได้
- พ.ศ. ๑๙๑๘ อยุธยายกทัพไปตีเมืองพิษณุโลก ขุนสามแก้ว เจ้าเมืองพิษณุโลกถูกจับได้ ทัพอยุธยาได้เมืองและกวาดต้อนผู้คนจากเมืองพิษณุโลกกลับมามาก
- พ.ศ. ๑๙๑๙ อยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราว ครั้งที่สอง คราวนี้กองทัพพญาผากองเจ้าเมืองน่านมาช่วยรบร่วมกับพญาคำแหงด้วย แต่ก็ไม่สามารถสู้กองทัพอยุธยาได้ พญาผากองยกกองทัพหนีไป กองทัพอยุธยาตามจับตัวแม่ทัพนายกองได้มาก
- พ.ศ. ๑๙๒๑ อยุธยายกกองทัพไปตีเมืองชากังราว เป็นครั้งที่ ๓ พระมหาธรรมราชา ยกกองทัพออกมาป้องกันเมืองด้วยพระองค์เอง แต่ก็ต้องยอมพ่ายแพ้แก่กองทัพอยุธยาจนถึงกับต้องยอมถวายบังคมอ่อนน้อมต่ออาณาจักรอยุธยา
เมื่อพระมหาธรรมราชาที่ ๒ ยอมถวายบังคมต่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งอยุธยาแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัยยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ ทั้งนี้เพราะถูกอาณาจักรอยุธยาจำกัดอำนาจลง กับรวมทั้งการที่กษัตริย์สุโขทัยย้ายที่ประทับอยู่ที่เมืองสองแควด้วย
พระมหาธรรมราชาที่ ๒ สวรรคตราว พ.ศ. ๑๙๔๒ และพญาไสลือไทขึ้นครองราชสมบัติ ต่อมาทรงพระนามว่า “พระมหาธรรมราชาที่ ๓” อาจกล่าวได้ว่าภายหลังที่ทางอาณาจักรอยุธยาตัดกำลังหัวเมืองต่างๆ ของ สุโขทัย ลงแล้ว เสถียรภาพทางการเมืองของอาณาจักรสุโขทัยก็ทรุดลงและยากที่จะแก้ไขให้มั่นคงขึ้นได้ เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาสามารถขยายตัวออกไปได้อย่างกว้างขวาง แต่ถึงกระนั้น พระมหาธรรมราชาที่ ๓ ก็ได้ทรงกู้เสถียรภาพทางการเมืองของสุโขทัย โดยได้ยกกองทัพออกไปปราบปรามหัวเมืองต่างๆ ให้อยู่ในอำนาจแม้จะไม่ได้มากเท่ากับครั้งพญาลิไทก็ตาม แต่พระองค์ก็ได้ทำสงครามหลายครั้งรวมทั้งเคยยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๔๕ ด้วย ซึ่งแม้จะไม่ได้ผลทางชัยชนะเลยก็ตาม แต่เป็นการแสดงถึงความพยายามในการสร้างอาณาจักรให้มีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นกว่าการเป็นรัฐกันชนขนาดเล็กที่อาจถูกผนวกเข้าไปอยู่กับดินแดนของอาณาจักรหนึ่งได้
พญาไสลือไท ทรงมีพระราชโอรสสองพระองค์ คือ พญาบาล และพญาราม หลังจากที่พญาไสลือไทเสด็จสวรรคต ในปี พ.ศ. ๑๙๖๒ ก็เกิดจลาจลแย่งชิงราชสมบัติ สมเด็จพระนครินทราชาธิราช (พระอินทราชาธิราช) กษัตริย์อยุธยาต้องยกทัพมาปราบจลาจลโดยยกทัพไปถึงพระบาง (นครสวรรค์) พญาบาล และพญาราม ต้องออกมากราบบังคมต่อสมเด็จพระนครินทราชาธิราช สมเด็จพระนครินทราชาธิราชจึงโปรดให้สถาปนาพญาบาลครองเมืองพิษณุโลก ทรงพระนามว่าพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรม-ปาลมหาธรรมราชาธิราช และพญาราม โปรดเกล้าให้ครองเมืองสุโขทัย
พระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาลครองราชสมบัติอยู่ ๑๙ ปี จึงเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. ๑๙๘๑ การสวรรคตของพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาล (พระมหาธรรมราชาที่ ๔) นักประวัติศาสตร์ถือว่าเป็นการสิ้นสุดยุคอาณาจักรสุโขทัยด้วย เมื่อพระเจ้าศรีสุริยวงศ์บรมปาล สวรรคต สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) จึงโปรดให้สถาปนาพระราเมศวรราชโอรส ซึ่งประสูตรจากเจ้าหญิงสุโขทัยพระองค์หนึ่ง ซึ่งขณะนั้นมี พระชนมายุเพียง ๗ พรรษา เป็นพระมหาอุปราชครองเมืองสองแคว ทั้งนี้เพราะทรงเห็นว่าเป็นพระราชโอรสที่มีเชื้อสายทางเจ้านายฝ่ายสุโขทัย คงจะเข้ากับทางราชวงศ์สุโขทัยได้ดีและเท่ากับเป็นการผนวกดินแดนของอาณาจักร สุโขทัย ในตัวไปด้วย
สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) เสด็จสวรรคตเมื่อปี ๑๙๙๑ พระราเมศวร-อุปราช จึงเสด็จจากเมืองสองแควไปครองกรุงศรีอยุธยา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ส่วนที่เมืองสองแควโปรดให้พระยุษธิฐิระ โอรสของพญารามเป็นเจ้าเมือง แต่ก็ทรงรวมอำนาจจากการบริหารราชการแผ่นดินเข้าสู่ส่วนกลางที่กรุงศรีอยุธยา ฝ่ายพระยุษธิฐิระ ไม่พอใจอย่างมากที่เป็นเพียงเจ้าเมืองสองแคว จึงหันไปผูกมิตรกับพระเจ้าติโลกราช เมืองเชียงใหม่ ทำให้เกิดการสู้รบยืดเยื้อระหว่างอาณาจักรอยุธยาและอาณาจักรเชียงใหม่ ตลอดรัชกาลของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และเพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มหัวเมืองเหนือ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ จึงเสด็จขึ้นครองเมืองสองแคว และโปรดให้พระอินทราชาครองกรุงศรีอยุธยาแทนพระองค์ ในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ได้ทรงเปลี่ยนแปลงฐานะของเมืองต่างๆ ที่อยู่ในอาณาจักรสุโขทัยเดิมเสียใหม่ คือ
- เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นเอก คือ เมืองสองแคว
- เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นโท คือ เมืองศรีสัชนาลัย เมืองสุโขทัย เมืองชากังราว และเมืองเพชรบูรณ์
- เมืองที่อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นตรี ได้แก่ เมืองพิชัย เมืองสระหลวง และเมืองพระบาง
จะเห็นได้ว่าในบรรดาหัวเมืองในอาณาจักรสุโขทัยเดิม เมืองสองแควนับว่าเป็นเมืองสำคัญที่สุด ขณะเดียวกันเมืองสุโขทัย เมืองศรีสัชนาลัย อยู่ในฐานะหัวเมืองชั้นโทได้ลดความสำคัญลง
เมืองสุโขทัยคงมีประชาชนอาศัยอยู่สืบมา จนกระทั่งในสมัยรัชกาลสมเด็จพระมหาธรรม-ราชา แต่อยู่ในฐานะที่ต้องส่งส่วยอากรและผลผลิตให้แก่อยุธยาบ้าง เก็บผลประโยชน์ให้พม่าบ้าง ตามเหตุการณ์ของสงคราม จวบจนกระทั่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงประกาศอิสรภาพไม่ยอมอยู่ภายใต้การปกครองของพม่าที่เมืองแครง ในปี พ.ศ. ๒๑๒๗ พระองค์ได้โปรดให้กวาดต้อนคนจากหัวเมืองเหนือลงไปไว้เมืองอยุธยาทั้งหมด เนื่องจากกรุงศรีอยุธยามีกำลังน้อย และเพื่อเป็นการป้องกันมิให้พม่าใช้กำลังจากหัวเมืองเหนือเป็นฐานในการสนับสนุนส่งกำลังบำรุง ทำให้สุโขทัยต้องกลายเป็นเมืองอ่อนกำลังลง
การที่สุโขทัยอ่อนกำลังลงเช่นนี้ เป็นผลให้บรรดาสิ่งก่อสร้าง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม คูเมือง กำแพงเมือง และระบบชลประทานต่างๆ ถูกภัยธรรมชาติทำลายให้เสียหาย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเห็นว่าศิลปโบราณวัตถุทางศาสนา เช่น เทวรูป และพุทธรูปที่งดงามถูกทอดทิ้ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายประติมากรรมล้ำค่าเหล่านั้น ไปประดิษฐานตามวัดวาอารามต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร ศิลปกรรมของเมืองสุโขทัยส่วนหนึ่ง จึงเก็บรักษาอยู่ในกรุงเทพมหานครสืบมาจนกระทั่งบัดนี้ สิ่งที่เหลือเป็นอนุสรณ์ของความยิ่งใหญ่ของเมืองในอดีตมีเพียงแต่ซากของสถาปัตยกรรมที่ปรักหักพังเพียงอย่างเดียวเท่านั้น







Leave a Reply