
หลังจากที่พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ประกาศตั้งกรุงสุโขทัยขึ้นเป็นอิสระ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๐ จากนั้น ในราว พ.ศ. ๑๘๐๕ ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับเมือง ตาก ขึ้น ครั้งหนึ่งคือ ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด (อยู่ในอำเภอแม่สอดปัจจุบัน) ยกทัพมาตีเมือง ตาก ซึ่งเป็นเมืองชายแดนของกรุงสุโขทัย พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงยกกองทัพมาช่วยป้องกันเมือง ตาก และได้ปะทะกันที่เชิงดอย นอกเมือง ตาก ออกไปประมาณสักกิโลเมตรเศษ แต่เนื่องจากภูมิประเทศของเมือง ตาก เป็นป่าเขาโดยมาก การซุ่มซ่อนพลจึงกระทำได้อย่างสะดวกสบาย ดังปรากฏในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงว่า เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ต้อนพลเข้าไปทางซ้ายเพื่อหวังจะโอบล้อมกองทัพของขุนสามชน แต่ขุนสามชนคงรู้ทีจึงขับพลเลี่ยงเข้ามาทางขวาเข้าโอบล้อมกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เสียก่อน ไพร่พลในกองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไม่นึกว่าเหตุการณ์จะกลับตรงกันข้ามเช่นนั้น ก็เสียกำลังใจถอยร่นลงมา ขณะนั้นราชโอรสองค์เล็กของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งมีพระชนมายุได้ ๑๙ พรรษา ได้ติดตามมาด้วยเห็นว่าถ้าขืนปล่อยให้ไพร่พลในกองทัพถอยร่นลงมาเรื่อยเช่นนั้น ผลสุดท้ายต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอน จึงทรงขับช้างต้อนพลให้เข้าต่อตีกองทัพของขุนสามชนอีกครั้งหนึ่ง แล้วทรงไสช้างบุกเข้าไปจนถึงตัวขุนสามชน ซึ่งกำลังต้อนพลรุกไล่กองทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เข้ามาพ่อขุนรามคำแหงทรงปะทะช้างกับขุนสามชนจนได้กระทำยุทธหัตถีกัน ขุนสามชนสู้ไม่ได้ก็พ่ายหนีไป เมือง ตาก จึงรอดพ้นจากการรุกรานของ ขุนสามชน และตลอดสมัยของกรุงสุโขทัยไม่ปรากฏในศิลาจารึกหรือจดหมายใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องราวของเมือง ตาก นี้อีกเลย
เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในการชนช้างคราวนี้ จึงได้มีการสร้างพระเจดีย์แบบสุโขทัย ซึ่งเรียกว่า พระปรางค์ขึ้น สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่าก่อสร้างในสมัยกรุงสุโขทัย ขนาดพระปรางค์สูงตลอดยอดประมาณ ๑๐ วา แต่ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้าง







Leave a Reply