
ในปี พ.ศ. ๒๓๒๘ สมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก กองทัพของพม่าจึงเข้าตีประเทศไทยเป็นการใหญ่โดยพระเจ้าปะดุงกษัตริย์พม่า ทรงโปรดให้จัดกองทัพแบ่งออก ๙ ทัพด้วยกัน และให้กองทัพเหล่านี้ยกเข้าตีเมืองไทยทุกทิศทุกทาง ทั้งทางเหนือทางตะวันตกและทางใต้ กองทัพที่ ๙ ของพระเจ้าปะดุงอันมีจอข่องนรทาเป็นแม่ทัพ ได้ยกเข้ามาทางด้านแม่ละเมา เมื่อเข้าตีเมือง ตาก ได้แล้ว ก็ยกข้ามฟากมาตั้งอยู่ที่บ้านระแหง เพื่อรอฟังผลการรบของกองทัพอื่น ๆ ต่อไป แต่เนื่องจากจอข่องนรทาได้ทราบข่าวว่ากองทัพพม่าอีกกองหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากพิงถูกกองทัพไทยตีแตกกลับไปแล้ว และบางทีได้ทราบว่ากองทัพหลวงซึ่งพระเจ้าปะดุง ทรงเป็นจอมพลยกเข้ามาทางด่าน พระเจดีย์สามองค์ถอยกลับไปแล้วด้วย เฉพาะฉะนั้นเมื่อได้ทราบข่าวว่ากองทัพไทยยกตามขึ้นไปถึงเมืองกำแพงเพชร จึงไม่รอต่อสู้รีบถอยหนีกลับไปด่านแม่ละเมา
หลังจากสงครามคราวนี้ ก็ไม่มีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นกับเมือง ตาก อีก ชาวเมืองตากที่อพยพหลบหนีข้าศึกเข้าป่าเข้าดงไปก็ค่อย ๆ กลับเข้ามาหากินอยู่ในเมือง ตาก ต่อไปตามเดิมอีก จนกระทั่งถึง รัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงพระราชดำริเห็นว่าตัวเมืองเดิมเอาแม่น้ำไว้ข้างหลัง ในเวลาถอยทัพย่อมได้รับความลำบากเนื่องจาก แม่น้ำน้ำกว้างใหญ่ขวางกั้นอยู่ สู้ย้ายเมืองข้ามฟากมาตั้งอยู่อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้ เพราะการที่ย้ายมาตั้งฟากนี้จะทำให้มีแม่น้ำขวางหน้าเป็นเสมือนคูเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ข้าศึกเข้าตีลำบาก ทั้งการที่จะส่งกองทัพไปช่วย หรือถอยทัพหนีข้าศึกก็จะทำได้สะดวก เพราะฉะนั้นจึงทรงพระกรุณาโปรดให้ย้ายตัวเมือง ตาก จากที่เดิม มาตั้งใหม่ที่บ้านระแหง ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเมือง ตาก ที่บ้านป่ามะม่วง ตัวเมืองที่ย้ายมาใหม่นี้ตั้งอยู่ตำบลนี้เรื่อยมา จนกระทั่งถึงทุกวันนี้
จากประวัติความเป็นมาของจังหวัด ตาก และเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในสมัยต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว พอที่จะมองได้ว่าจังหวัด ตาก ในสมัยโบราณนับว่าเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าขาย การคมนาคมทางเรือ ระหว่างคนไทยกับมอญ และต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ยังใช้เป็นเส้นทางคมนาคม ระหว่างเชียงใหม่ นครสวรรค์ และกรุงเทพฯ เพราะในครั้งนั้นยังไม่มีทางรถไฟ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ลักษณะการทั้งบ้านเรือนของราษฎรในจังหวัดตากเป็นไปตามความยาวของแม่น้ำ ห่างจากฝั่งออกไปไม่ค่อยมีคนอาศัยอยู่ แต่อย่างไรก็ตามจังหวัด ตาก ในสมัยก่อนก็ยังนับว่าเป็นเมืองที่บริบูรณ์และครึกครื้นเมืองหนึ่ง สินค้าต่างเมืองมารวมกันหลายทาง คือ มาจากเมืองเชียงใหม่บ้าง เมืองมะละแหม่งบ้าง ขึ้นไปจากกรุงเทพฯ บ้าง ชาวพื้นเมืองในจังหวัดส่วนมากมีเชื้อสายลาวมากกว่าไทย
ความสำคัญของจังหวัด ตาก อีกประการหนึ่งคือ เป็นเมืองหน้าด่านที่พม่าจะใช้เป็นเส้นทางเดินทัพ ตัวอย่างเช่น พระเจ้าบุเรงนองของพม่าได้ยกทัพเข้ามาทางด่านแม่ละเมาแขวงเมืองตาก ทำสงครามกับไทยในสมัยแผ่นดินของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เป็นต้น ยิ่งกว่านั้น จังหวัด ตาก ยังเป็นเมืองที่ชุมนุมทัพเมื่อคราวที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราช เสด็จไปตีเมืองเชียงใหม่ดังได้ทรงสร้างพระเจดีย์ปรากฎไว้เป็นอนุสรณ์ตราบจนทุกวันนี้
การจัดรูปการปกครองเมืองตามระบอบมณฑลเทศาภิบาล ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการจัดระเบียบการปกครองและบริหารราชการขึ้นใหม่ อันเป็นการปูพื้นฐานในรูปการจัดระเบียบการปกครองสมัยใหม่ โดยมีนโยบายรวมหัวเมืองต่างๆ ให้เข้าเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่ง อันเดียวอย่างเป็นปึกแผ่นมั่นคง คือเปลี่ยนจากแบบราชาธิราช มาเป็นแบบราชอาณาจักร ดังนั้น เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๓๕ พระองค์จึงได้ประกาศจัดตั้งกระทรวงขึ้น ๑๒ กระทรวง มีการแบ่งการงานในหน้าที่และความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวงให้แน่นอนลงไป และแต่ละกระทรวงให้มีเสนาบดีเป็น หัวหน้ารับผิดชอบกระทรวงทั้ง ๑๒ กระทรวงที่จัดตั้งขึ้น คือ
- กระทรวงมหาดไทย มีหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองและรักษาความสงบเรียบร้อยภายในหัวเมือง
- กระทรวงกลาโหม มีหน้าที่ฝ่ายทหารและการป้องกันประเทศ
- กระทรวงนครบาลมีหน้าที่เกี่ยวกับการตำรวจ และรักษาความสงบเรียบร้อยใน พระนคร
- กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการต่างประเทศ
- กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเก็บภาษีอากร รับจ่าย เก็บ รักษาเงินของแผ่นดินโนวโรรส
- กระทรวงเกษตรพาณิชย์การ มีหน้าที่เกี่ยวกับการเกษตร และการค้าขาย ป่าไม้ แร่
- กระทรวงวัง มีหน้าที่เกี่ยวกับกิจการในพระราชวัง และกรมซึ่งใกล้เคียงกับราชการในพระองค์
- กระทรวงยุติธรรม มีหน้าที่เกี่ยวกับชำระความ อรรถคดี ทั้งแพ่งและอาญา
- กระทรวงโยธาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ทำถนน ขุดคลอง การไปรษณีย์ โทรเลข รถไฟ และการช่างทั้งหลาย
- กระทรวงธรรมการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการศึกษา โรงเรียนและการบังคับบัญชา พระสงฆ์
- กระทรวงมุรธาธร มีหน้าที่เกี่ยวกับการรักษาพระราชลัญจกร รักษาพระราชกำหนด กฎหมายและหนังสือราชการทั้งปวง
- กระทรวงยุทธนาธิการ มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทหารบก ทหารเรือ
แต่ละกระทรวงมีเสนาบดีเป็นหัวหน้าบังคับบัญชา และในการประชุมเสนาบดีของแต่ละกระทรวงเพื่อหารือข้อราชการนั้น พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานในที่ประชุมกระทรวงต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นนี้ แต่ละกระทรวงมีกรมกอง ในสังกัดของตนมากน้อยตามความเหมาะสม และได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขต่อมาทุกรัชกาล ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมตามเหตุการณ์ของบ้านเมืองและตามกาลสมัย สำหรับการปกครองหัวเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้เป็นไปในทำนองเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่เปลี่ยนเรียก ชื่อเสียใหม่ คือ มีการแบ่งการปกครองออกเป็น จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และในรัชสมัยของพระองค์นี้ การปกครองหัวเมืองในรูปการแบ่งอำนาจในการปกครองหัวเมืองได้ปรากฏเป็นรูปร่างเด่นชัดขึ้น เมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๐ ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกและประกาศใช้พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. ๒๔๕๓ แทน ซึ่งได้ถือเป็นหลักมาจนกระทั่งทุกวันนี้ จะมีการแก้ไขบ้างก็เพียงบางมาตราเพื่อความเหมาะสมในการปกครองเท่านั้นและได้เปลี่ยนการปกครองหัวเมืองเรียกเป็น การปกครองท้องที่ตามชื่อพระราชบัญญัติ
อนึ่ง ตั้งแต่รัชสมัยของรัชกาลที่ ๕ เรื่อยมาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย ได้ทรงดำริจัดตั้งมณฑลและภาคขึ้นโดยรวมหลาย ๆ จังหวัดขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงใหญ่หรือข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ และต่อมาได้โอนมาขึ้นอยู่ในสังกัดกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๖๙ และในปี พ.ศ. ๒๔๕๘ ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีการจัดตั้งภาคขึ้นหลาย ๆ มณฑลรวมกันเป็นภาคและมีอยู่ ๔ ภาค คือ ภาคพายัพ ภาคปักษ์ใต้ ภาคอีสาน และภาคตะวันตก มีอุปราชซึ่งเป็นพระราชวงศ์หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เป็นผู้ปกครองขึ้นตรงต่อพระมหากษัตริย์ แต่การจัดรูปการปกครองโดยมีภาคนี้ ได้นำมาใช้เพียง ๑๐ ปี เท่านั้น และได้ยกเลิกไปเมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๖๘ คงเหลือแต่มณฑล และให้มณฑลต่าง ๆ นี้มาขึ้นกับกระทรวงมหาดไทยในปี ๒๔๖๙ ดังที่กล่าวมาแล้ว สำหรับจำนวนมณฑลนี้มิได้มีจำนวนแน่นอน คงเพิ่มลดกันตลอดมาเพื่อความสะดวกเหมาะสมในการปกครอง จนในที่สุดใน พ.ศ. ๒๔๗๔ ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองคงเหลือเพียง ๑๐ มณฑล และได้ยกเลิกไปหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว
อนึ่ง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๘ ได้มีการรวมหัวเมืองจัดเป็นมณฑลเทศาภิบาลขึ้นอีก ๓ มณฑล คือ มณฑลนครชัยศรี มณฑลนครสวรรค์ และมณฑลกรุงเก่า จังหวัดตากในสมัยนั้นจัดเป็นหัวเมืองที่ขึ้นกับมณฑลนครสวรรค์เรื่อยมา จนกระทั่งได้มีการยกเลิกไป
การจัดรูปการปกครองในสมัยปัจจุบัน
หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ระบอบการ ปกครองได้เปลี่ยนมาเป็นระบอบประชาธิปไตย หรือปรมัตตาญาสิทธิราชย์ซึ่งหมายความว่า การ ปกครองโดยมีองค์พระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของชาติ พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทั้ง ๓ ได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ โดยทางสภาผู้แทนราษฎร ทางคณะรัฐมนตรีและทางศาลตามลำดับ ปัจจุบันนี้การจัดระเบียบการบริหารงานทางการปกครองของประเทศ ได้แบ่งลักษณะการปกครองออกเป็น ๓ ส่วน คือ
- ๑. ส่วนกลาง คือ กระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ และส่วนราชการอื่นที่เทียบเท่า
- ๒. ส่วนภูมิภาค ได้แก่ จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งเป็นการปกครองในการแบ่งอำนาจในการปกครอง
- ๓. ส่วนท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล สุขาภิบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และสภาตำบล และการปกครองท้องถิ่นรูปพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ตามกฎหมายที่ว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองท้องถิ่นของกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ซึ่งเป็นการปกครองท้องถิ่นในรูปการกระจายอำนาจในทางปกครอง
องค์การปกครองท้องถิ่นทุกรูปได้ถูกจัดตั้งโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย และมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้ และมีสภาพเป็นนิติบุคคล เว้นแต่ในรูปสภาตำบล ได้จัดตั้งขึ้นโดยคำสั่งของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๒๖ ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๑๕







Leave a Reply